ร่วมสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ

 

แบบจำลองพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ

 

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม กำลังมีโครงการก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ

  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็น ประธานอุปถัมภ์ และ
  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็น ประธานโครงการก่อสร้าง

เพื่อเป็นปูชนียสถานอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตธาตุที่สำคัญ ที่ปรากฏขึ้น ณ วัดหลวงพ่อสดฯ ไว้ให้เป็นที่สักการบูชา ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก และเพื่อสืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญและยั่งยืน ตลอดไป

พระมหาเจดีย์ “สมเด็จฯ” ที่ชื่อว่า พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ ก็เพราะความประจวบเหมาะกับสมเด็จ ผู้เป็นมหามิ่งมงคล 6 ประการ คือ

  • 1. พระมหาเจดีย์นี้จักเป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสำคัญ
  • 2. พระมหาเจดีย์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
  • 3. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คู่พระบารมี ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และ
  • 4-5-6. พระมหาเจดีย์นี้ จักเกิดขึ้น ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล) เจ้าอาวาส ล้วนเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ทั้ง 3 องค์ คือ
    • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธรมหาเถร) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นพระอุปัชฌาย์
    • สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมคุณาภรณ์)
    • สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญญมหาเถร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็น พระอนุสาวนาจารย์ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี)

 

ผังปลูกต้นไม้กลุ่มโพธิ รอบพระมหาเจดีย์ฯ
(ต้นไม้โพธิ คือต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์)

“พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ” เป็นอาคารทรงจตุรมุข 4 ชั้น มีความกว้าง ความยาว และความสูง 108 เมตร เท่ากัน ส่วนองค์พระเจดีย์ เป็นแกนกลาง ประดิษฐานอยู่ส่วนบนของตัวอาคารทั้งหมด

รูปแบบพระมหาเจดีย์ ออกแบบโดย อาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ อดีตผู้อำนวยการช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง คือ รศ.ดร.หรรษา วัฒนานุกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณวิชยา วัฒนานุกิจ (Center of Standard Engineering co.ltd.) และวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง คือ คุณนพ โรจนวานิช นายช่างใหญ่ กรมโยธาธิการ ไวยาวัจกร วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม โดยมี พระมหาสุจิตต สุจิตฺโต (วศ.บ. จุฬาฯ) วิศวกรฝ่ายบรรพชิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยดูแลควบคุมการก่อสร้าง

  • ชั้นบนสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
  • ชั้นที่สาม  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งรูปเปรียบตัวอย่างการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีพระมหาเจดีย์เป็นแกนกลาง
  • ชั้นที่สอง สำหรับการประชุมอบรมธรรมปฏิบัติ
  • ชั้นล่างสุด ของพระมหาเจดีย์ เป็นที่ทำงาน และเป็นที่ให้ญาติโยมสาธุชนมาบำเพ็ญกุศลประกอบพิธีกรรม และจัดการประชุมทั่วไปได้

ประมาณราคาค่าก่อสร้าง (ตามรายงานของวิศวกร) มีดังนี้

การก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ ณ สิ้นปี พ.ศ.2555

  พื้นที่ (ตร.ม.) ประมาณการ
ค่าก่อสร้าง
ปี 2549-2555
ใช้เงินก่อสร้างไปแล้ว
จำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องใช้
ในการก่อสร้างต่อไป จนเสร็จ
เจดีย์กลาง 5,180 218,000,000 60,000,000 158,000,000
วิหารใหญ่ 3,672 160,000,000 44,000,000 116,000,000
วิหารเล็ก 768 32,000,000 16,500,000 15,500,000
บันไดและพื้นรอบวิหาร 2,610 33,000,000 17,000,000 16,000,000
ภูมิสถาปัตย์   115,000,000 10,500,000 104,500,000
เจดีย์ 4 ทิศ   6,000,000 6,000,000
  รวม 564,000,000 148,000,000 416,000,000
    100.00% 26.24% 73.76%

จำนวนเงินที่ต้องใช้การก่อสร้างต่อไป ในแต่ละปี จนเสร็จ ภายในสิ้นปี พ.ศ.2558

  พ.ศ.2556 พ.ศ.2557 พ.ศ.2558
เจดีย์กลาง 38,000,000 68,000,000 52,000,000
วิหารใหญ่ 20,000,000 56,000,000 40,000,000
วิหารเล็ก 15,500,000
บันไดและพื้นรอบวิหาร 16,000,000
ภูมิสถาปัตย์ 24,500,000 80,000,000
เจดีย์ 4 ทิศ 6,000,000
(รวม 416,000,000) 82,500,000 139,500,000 194,000,000

มหานิสงส์การสร้างพระมหาเจดีย์

ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้าง “พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ” นี้ ย่อมได้ชื่อว่า

  1. “สร้างวิหารทาน” อันเป็นทานที่มีอานิสงส์ผลบุญสูงที่สุด ในประเภทอามิสทานหรือวัตถุทาน
  2. “ให้ธรรมเป็นทาน” กล่าวคือ เมื่อมีผู้มาใช้สอยสถานที่และปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาสมาธิเพื่อขัดเกลากิเลสตนเอง นี้ให้ผลเป็นธรรมทานแก่ผู้ปฏิบัติเอง และบุญนั้นย่อมสะท้อนกลับเป็นทับทวีสู่ผู้เสียสละสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และกำลังทรัพย์ ให้พระมหาเจดีย์นี้สำเร็จลง
  3. “บำเพ็ญพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา” เพราะพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปปางต่างๆ และปูชนียวัตถุอื่นๆ ที่สำคัญ  ความเป็นสิริมงคลย่อมมีแก่ผู้ได้มาสักการบูชา ถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ทั้งด้วยอามิสบูชาและปฏิปัตติบูชา ให้ได้รับผลเป็นความสันติสุข และสมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ มีมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1

ดังที่ท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ได้กล่าวถึงบุญที่ท่านได้ทำไว้ ความว่า

ผลแห่งการสร้างพุทธเจดีย์

ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ ผู้เป็นนาถะของโลก นิพพานแล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา. หมู่ชนมีจิตร่าเริงเบิกบานบันเทิง เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความสังเวช*   ปีติย่อมเกิดแก่เรา. เราประชุมญาติและมิตรแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า “พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว เชิญพวกเรามาทำการบูชากันเถิด”. พวกเขารับคำว่า “สาธุ” แล้ว ทำความร่าเริงให้เกิดแก่เราอย่างยิ่งว่า “พวกเราจักทำการก่อสร้างบุญในพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก”. ได้ให้สร้างเจดีย์อันมีค่า ทำอย่างเรียบร้อย สูง 100 ศอก กว้าง 150 ศอก พุ่งขึ้นในท้องฟ้า ดุจวิมาน ครั้นสร้างเจดีย์อันมีค่างดงามด้วยระเบียบอันดีไว้ในที่นั้นแล้ว ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใสบูชาเจดีย์อันอุดม. เจดีย์นั้นย่อมรุ่งเรืองดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ ดังเช่นพญารังดอกบานสะพรั่ง ย่อมสว่างไปทั่วทั้ง 4 ทิศ เหมือนสายฟ้าในอากาศ. เรายังจิตให้เลื่อมใสในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึกถึงกรรมเก่าแล้วได้เข้าถึงไตรทศ เราอยู่บนยานทิพย์อันเทียมด้วยม้าสินธพ 1,000 ตัว วิมานของเราสูงตระหง่านสูงสุด 7 ชั้น กูฏาคาร (ปราสาท) 1,000 สำเร็จด้วยทองคำล้วน ย่อมรุ่งเรือง ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสวด้วยเดชของตน ในกาลนั้น ศาลาหน้ามุขแม้เหล่าอื่นอันสำเร็จด้วยแก้วมณีมีอยู่ แม้ศาลาหน้ามุขเหล่านั้น โชติช่วงด้วยรัศมีทั่ว 4 ทิศโดยรอบ กูฏาคารอันบังเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม อันบุญกรรมนิรมิตไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วยแก้วมณี โชติช่วงทั่วทิศน้อยทิศใหญ่โดยรอบ โอภาสแห่งกูฏาคารอันโชติช่วงอยู่เหล่านั้น เป็นสิ่งไพบูลย์ เราครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่า อุพพิทธะ ครอบครองแผ่นดินมีสมุทรสาครทั้ง 4 เป็นขอบเขต ใน 60,000 กัป ในภัทรกัปนี้ เราได้เป็นเหมือนอย่างนั้น 30 ครั้ง คือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก ยินดีในกรรมของตน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4 ในครั้งนั้น ปราสาทของเราสว่างไสวดังสายฟ้า ด้านยาว 24 โยชน์ ด้านกว้าง 12 โยชน์ นครชื่อรัมมกะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง ด้านยาว 500 โยชน์ ด้านกว้าง 250 โยชน์ คับคั่งด้วยหมู่ชน เหมือนเทพนครของชาวไตรทศ เข็ม 25 เล่ม เขาใส่ไว้ในกล่องเข็ม ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิจ ฉันใด แม้นครของเราก็ฉันนั้น เกลื่อนด้วยช้างม้าและรถ คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ น่ารื่นรมย์ เป็นนครอันอุดม เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้น แล้วไปเกิดเป็นเทวดาอีก กุศลสมบัติได้มีแก่เราในภพสุดท้าย เราสมภพในสกุลพราหมณ์ สั่งสมรัตนะไว้มาก สละทรัพย์ 80 โกฏิแล้วออกบวช คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำ[ตาม]เสร็จแล้ว ฉะนี้แล ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล. หากัสสปเถราปทาน (ขุ. อป. 24/48)  

และท่านพระสุธาปิณฑิยเถระผู้เป็นพระอรหันต์เช่นกัน

ได้กล่าวถึงการบูชาเพียงเล็กน้อย ที่ท่านได้ทำด้วยจิตที่ผ่องใส กลับให้ผลบุญอย่างมากมาย ดังนี้

ผลบุญของการบูชาบุคคลผู้ควรบูชาไม่อาจนับได้

ไม่อาจจะนับบุญของบุคคลผู้บูชา พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวก ผู้สมควรบูชา ผู้ล่วงธรรมเครื่องให้เนิ่นช้า ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรแล้ว ว่าบุญนี้มีประมาณเท่านี้ได้ ใครๆ ไม่อาจจะนับบุญของบุคคลผู้บูชาบุคคลที่ควรบูชาเหล่านั้น เช่นนั้น ผู้ดับแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ว่า ‘บุญนี้มีประมาณเท่านี้’ ได้ การที่บุคคลในโลกนี้ พึงให้ทำความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4 นี้ [ก็ยัง] ไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งการบูชานี้ เรามีใจผ่องใส ได้ใส่ก้อนปูนขาวในระหว่างแผ่นอิฐ ที่พระเจดีย์แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่า “สิทธัตถะ” ผู้เลิศกว่านระ ในกัปที่ 94 แต่กัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคคติเลย นี้เป็นผลแห่งการปฏิสังขรณ์ ในกัปที่ 30 แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 13 พระองค์ ทรงพระนามว่าปฏิสังขาระ สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว. สุธาปิณฑิยเถราปทาน (ขุ. อป. 32/147)

ช่องทางการบริจาค

บริจาคได้โดยตรงที่ ศาลาประชาสัมพันธ์วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม  ต.แพงพวยอ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 

หรือบริจาคโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร

  • ธนาคารกรุงเทพ สาขาดำเนินสะดวก  บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 422–0–25469–4
    ชื่อบัญชี “วัดหลวงพ่อสดฯ เพื่อการก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ”
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาดำเนินสะดวก  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 540–2–18485–8
    ชื่อบัญชี “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เพื่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ”
  • ธนาคารกรุงไทย สาขาดำเนินสะดวก  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 707–0–12333–7
    ชื่อบัญชี “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เพื่อการก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ”
  • ธนาคารกสิกรไทย สาขาดำเนินสะดวก บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 534-2-02908-8
    ชื่อบัญชี “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เพื่อการก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ”

เมื่อโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว กรุณาส่งหลักฐานมาที่  Line ID: @info.wat06 พร้อมทั้งระบุ (หรือคลิกลิงก์) https://line.me/ti/p/~@info.wat06

  1. จำนวนเงินที่ประสงค์บริจาค
  2. ชื่อ-นามสกุล
  3. หากต้องการให้ส่งอนุโมทนาบัตร และ/หรือ พระของขวัญที่ระลึก โปรดเขียนที่อยู่ให้ชัดเจน 

ทางวัดจะประกาศอนุโมทนาบุญ รายนามผู้ทำบุญในแต่ละวัน ผ่านทาง FaceBook Fan Page : วัดหลวงพ่อสดฯ https://www.facebook.com/Watluangporsodh

 

ธนาคารกรุงไทย สาขาดำเนินสะดวก  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 707-0-12333-7
E-Donation ทำบุญสร้างพระมหาเจดีย์ สามารถลดหย่อนภาษีอัตโนมัติ และมีภาพใบอนุโมทนาบัตรให้ด้วย

การจารึกชื่อ

ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคครบ 100,000 บาท ขึ้นไป จะได้รับการจารึกชื่อ ณ ที่สมควร ในบริเวณพระมหาเจดีย์ฯ 

การรับพระบูชาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ นี้ ตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป จะได้รับพระพุทธรูปบูชาที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับติดตัวทุกท่าน

ผู้บริจาคตั้งแต่ 300,000 บาท (สามแสนบาท) ขึ้นไป  นอกจากจะได้รับพระพุทธรูปบูชาติดตัวอันประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งแล้ว ยังจะได้รับเม็ดขนุนทองคำ หรือทองชมพูนุท “เทพประทาน” ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ อย่างน่าอัศจรรย์ในวัดหลวงพ่อสดฯ ไว้ติดตัวหรือบูชาเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิตและครอบครัว อีกด้วย

คำอนุโมทนาและพรอันประเสริฐ

ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่านด้วยเป็นอย่างยิ่ง ขอคุณพระศรีรัตนตรัยได้โปรดดลบันดาลประทานพรแก่ทุกท่าน และขอกุศลผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญไปด้วยดีแล้วนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านเจริญรุ่งเรือง ในพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในกิจการงานโดยชอบ ปราศจากความทุกข์ โศก โรค ภัย และสรรพอันตรายทั้งปวง ขอจงมีอายุมั่นขวัญยืน ขอจงมีแต่ความสันติสุข สมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยมนุษย์สมบัติ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ และบริวารสมบัติ ให้ถึงสวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ มีมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร ตลอดกาลนาน เทอญ

 

(พระเทพญาณมงคล)
ปฐมเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม