รัตนสูตร หลวงป๋า

อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.               พรรณนาคาถาว่า ยมฺพุทฺธเสฏฺโฐ                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะด้วยคุณแห่งนิพพานธรรมอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสด้วยพระคุณแห่งมรรคธรรมว่า ยมฺพุทฺธเสฏฺโฐ เป็นต้น.
               ในคำนั้น ชื่อว่าพุทธะ โดยนัยเป็นต้นว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย. ชื่อว่าเสฏฐะ เพราะเป็นผู้สูงสุด และควรสรรเสริญ, ชื่อว่าพุทธเสฏฐะ เพราะเป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้สูงสุดและควรสรรเสริญ.
               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพุทธเสฏฐะ เพราะเป็นผู้ประเสริฐสุดในพระพุทธะทั้งหลาย ที่เรียกว่าอนุพุทธะปัจเจกพุทธะและสุตพุทธะ. พระพุทธะผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นทรงชมสรรเสริญ ประกาศสมาธิธรรมใดไว้ในบาลีนั้นๆ
               โดยนัยเป็นต้นว่า
               มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐสุดแห่งมรรคทั้งหลาย เกษมเพื่อบรรลุพระนิพพาน๑-
               และว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ที่มีเหตุ มีเครื่องประกอบแก่ท่านทั้งหลาย.๒-
____________________________
๑-ม. ม. ๑๓/๒๘๗/๒๘๑๒-ม. อุ. ๑๔/๒๕๒/๑๘๐

               บทว่า สุจึ ได้แก่ ผ่องแผ้วสิ้นเชิง เพราะทำการตัดมลทินคือกิเลสได้เด็ดขาด.
               บทว่า สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงสมาธิอันใดว่า อนันตริกสมาธิ สมาธิเกิดในลำดับ เพราะอำนวยผลแน่นอนในลำดับการดำเนินการปฏิบัติของตน. อันตรายใดๆ ที่ห้ามกันความเกิดผลแห่งอนันตริกสมาธินั้น เมื่อสมาธิอันเป็นตัวมรรคเกิดขึ้นแล้ว หามีไม่.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๓-
                                   ก็บุคคลนี้ พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดา-
                         ปัตติผล และพึงเป็นเวลาที่กัปไหม้ กัปก็จะยังไม่พึง
                         ไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ ยังไม่ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
                         บุคคลผู้นี้เรียกว่า ฐิตกัปปี ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัป บุคคลผู้มี
                         มรรคพรั่งพร้อมทั้งหมด ก็เป็นฐิตกัปปี ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัป.
____________________________
๓-อภิ. ปุ. ๓๖/๓๓/๒๐๘

               บทว่า สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ ความว่า รูปาวจรสมาธิ หรืออรูปาวจรสมาธิใดๆ ที่เสมอด้วยอนันตริกสมาธิอันสะอาด ที่พระพุทธะผู้ประเสริฐสุดสรรเสริญแล้วนั้น ไม่มีเลย. เพราะเหตุไร เพราะสัตว์แม้เกิดในพรหมโลกนั้นๆ เพราะอบรมสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีการเกิดในอบายมีนรกเป็นต้นอีกได้ และเพราะพระอริยบุคคลตัดการเกิดทุกอย่างได้เด็ดขาด เพราะอบรมสมาธิที่เป็นตัวพระอรหัตนี้แล้ว.
               เพราะฉะนั้น แม้ในสูตรอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า๔-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตะ
                         [อันปัจจัยปรุงแต่ง] มีประมาณเท่าใด ฯลฯ อริยมรรคมี
                         องค์ ๘ กล่าวกันว่าเป็นเลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น.
____________________________
๔-ขุ. อิติ. ๒๕/๒๗๐/๓๐๘

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่อนันตริกสมาธิ อันสมาธิอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยความที่รัตนะคือมรรคธรรม อันรัตนะอื่นไม่เทียบได้ โดยนัยก่อนนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวนะว่า
                         อิทมฺปิ ธมฺเม ฯ เป ฯ สุวตฺถิ โหตุ
                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ฯลฯ ขอความสวัสดีจงมี.
               ความของสัจจวนะนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า เย ปุคฺคลา                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะ แม้ด้วยคุณแห่งมรรคธรรมอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสแม้ด้วยสังฆคุณว่า เย ปุคฺคลา เป็นต้น.
               ในคำนั้น ศัพท์ว่า เย เป็นนิเทศไม่แน่นอน. บทว่า ปุคฺคลา ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย. ศัพท์ว่า อฏฺฐ เป็นการกำหนดจำนวนสัตว์เหล่านั้น. จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้น มี ๘ คือ ผู้ปฏิบัติ [มรรค] ๔ ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔.
               บทว่า สตํ ปสฏฺฐา ได้แก่ อันสัตบุรุษ คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก และเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น สรรเสริญแล้ว.
               เพราะเหตุไร. เพราะประกอบด้วยคุณมีศีลที่เกิดร่วมกันเป็นต้น. ความจริง คุณทั้งหลายของสัตบุรุษเหล่านั้น มีศีลสมาธิเป็นต้นเกิดร่วมกัน เหมือนสีและกลิ่นเป็นต้นที่เกิดร่วมกันของดอกจำปาและดอกพิกุลเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงเป็นที่รัก ที่ต้องใจ ที่น่าสรรเสริญของสัตบุรุษทั้งหลาย เหมือนดอกไม้ทั้งหลายที่พร้อมด้วยสีและกลิ่นเป็นต้น เป็นที่รักที่ต้องใจน่าสรรเสริญของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เย ปุคฺคลา อฏฺฐ สตํ ปสฏฺฐา.
               อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เย เป็นนิเทศไม่แน่นอน. บทว่า ปุคฺคลา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย. ศัพท์ว่า อฏฺฐสตํ เป็นการกำหนดจำนวนสัตว์เหล่านั้น. จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้น ได้แก่พระโสดาบัน ๓ พวก คือเอกพิชี โกลังโกละและสัตตตักขัตตุปรมะ พระสกทาคามี ๓ พวก ผู้บรรลุผลในกามภพ รูปภพและอรูปภพ. พระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านั้นทั้งหมดมี ๒๔ พวกโดยปฏิปทา ๔. พระอนาคามีในเทพชั้นอวิหามี ๕ พวก คืออันตราปรินิพพายี อุปหัจจปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี อสังขารปรินิพพายี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี. พระอนาคามีในเทพชั้นอตัปปา สุทัสสา สุทัสสี ก็มีชั้นละ ๕ พวกเหมือนกัน. ส่วนในเทพชั้นอกนิษฐ์ มี ๔ พวกเว้นอุทธังโสโต รวมพระอนาคามี ๒๔ พวก. พระอรหันต์มี ๒ พวก คือสุกขวิปัสสกและสมถยานิก. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคมี ๔ พวก รวมเป็นพระอริยบุคคล ๕๔ พวก. พระอริยบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดคูณด้วย ๒ พวกคือ ฝ่ายสัทธาธุระและฝ่ายปัญญาธุระรวมเป็น ๑๐๘ พวก.
               คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า จตฺตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนฺติ ความว่า บุคคลที่ทรงยกอุเทศไว้โดยพิศดารว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดมี ๘ พวกก็ดี ๑๐๘ พวกก็ดี ว่าโดยสังเขป พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล รวมเป็น ๑ คู่ อย่างนี้จนถึงพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล รวมเป็น ๑ คู่ รวมทั้งหมดเป็น ๔ คู่
               ศัพท์ว่า เต ในบทว่า เต ทกฺขิเณยฺยา เป็นศัพท์นิเทศอธิบาย กำหนดแน่นอน ซึ่งบทอุเทศที่ยกตั้งไว้ไม่แน่นอน. บุคคลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้พิศดารว่ามี ๘ พวกหรือ ๑๐๘ พวก สังเขปว่า มี ๔ คู่ แม้ทั้งหมด ย่อมควรทักษิณา เหตุนั้น จึงชื่อว่า ทักขิเณยยะ.
               ไทยธรรมที่บุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมไม่คำนึงถึงว่า ภิกษุรูปนี้จักทำกิจกรรมเป็นหมอยา หรือกิจกรรมรับใช้อันนี้แก่เรา ดังนี้เป็นต้นแล้วถวาย ชื่อว่าทักษิณา. บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น และบุคคลเหล่านี้ผู้เป็นเช่นนั้น ชื่อว่าย่อมควรแก่ทักษิณานั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เต ทกฺขิเณยฺยา.
               บทว่า สุคตสฺส สาวกา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าสุคต เพราะทรงประกอบด้วยการเสด็จไปงดงาม เพราะเสด็จไปสู่สถานที่อันงาม เพราะเสด็จไปด้วยดี และเพราะตรัสดี. เป็นสาวกของพระสุคตพระองค์นั้น. ท่านเหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่า สาวก เพราะฟังพระดำรัส. คนอื่นๆ ถึงฟังก็จริง ถึงเช่นนั้น เขาฟังแล้วก็ไม่ทำกิจที่ควรทำ. ส่วนท่านที่เป็นสาวกเหล่านี้ ฟังแล้ว ทำกิจที่ควรทำคือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านี้ จึงตรัสเรียกว่า สาวก.
               บทว่า เอเตสุ ทินฺนานิ มหปฺผลานิ ความว่า ทานทั้งหลายแม้เล็กน้อย ที่ถวายในสาวกของพระตถาคตเหล่านั้น ชื่อว่ามีผลมาก เพราะเป็นทานที่เข้าถึงความเป็นทักษิณาบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แม้ในสูตร๑- อื่นว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ คือคณะมีประมาณเพียง
                         ใด คือสงฆ์สาวกของพระตถาคต กล่าวกันว่าเป็นเลิศของ
                         สงฆ์คณะเหล่านั้น คือสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล นี่สงฆ์สาวกของ
                         พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ เป็นวิบากอันเลิศ.
____________________________
๑-องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๔/๔๕;องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๓๒/๓๘;ขุ. อิติ. ๒๕/๒๗๐/๒๙๘

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของสังฆรัตนะโดยพระผู้ตั้งอยู่ในมรรค พระผู้ตั้งอยู่ในผลทั้งหมดอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
               ความของสัจจวจนะนั้นก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนนั่นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิกัป พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถาแม้นี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า เย สุปฺปยุตฺตา                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะด้วยคุณของสังฆรัตนะ โดยพระผู้ตั้งอยู่ในมรรคและพระผู้ตั้งอยู่ในผล อย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงเริ่มตรัสด้วยคุณของพระขีณาสวบุคคลทั้งหลาย ผู้เสวยสุขในผลสมาบัติบางเหล่าเท่านั้น ว่า เย สุปฺปยุตฺตา เป็นต้น.
               ในคำนั้น คำว่า เย เป็นคำอุเทศที่ไม่แน่นอน.
               บทว่า สุปฺปยุตฺตา แปลว่าประกอบดีแล้ว อธิบายว่า ละอเนสนา การแสวงหาที่ไม่สมควรหลายอย่างเสีย แล้วอาศัยการเลี้ยงชีวิตที่บริสุทธิ์ เริ่มประกอบตนไว้ในวิปัสสนา. อีกนัยหนึ่ง บทว่า สุปฺปยุตฺตา ได้แก่ ประกอบด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันหมดจดดี. ทรงแสดงศีลขันธ์ของพระขีณาสวบุคคลเหล่านั้นด้วยบทว่า สุปฺปยุตฺตา นั้น.
               บทว่า มนสา ทฬฺเหน ได้แก่ ด้วยใจที่หนักแน่น. อธิบายว่า ด้วยใจอันประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง. ทรงแสดงสมาธิขันธ์ของพระขีณาสวบุคคลเหล่านั้น ด้วยบทว่า มนสา ทฬฺเหน นั้น. บทว่า นิกฺกามิโน ได้แก่ เป็นผู้ไม่อาลัยในกายและชีวิต มีความพยายามออกจากกิเลสทั้งปวง อันผู้มีปัญญาเป็นธุระกระทำแล้วด้วยความเพียร. ทรงแสดงปัญญาขันธ์ที่ประกอบด้วยความเพียรของพระขีณาสวบุคคลเหล่านั้น ด้วยบทว่า นิกฺกามิโน นั้น.
               บทว่า โคตมสาสนมฺหิ ได้แก่ ในศาสนาของพระตถาคตผู้มีพระนามว่าโคดมโดยพระโคตรนั่นแล. ด้วยบทว่า โคตมสาสนมฺหิ นั้น ทรงแสดงว่า พวกคนนอกศาสนานี้ ผู้ทำตบะเพื่อเทพเจ้า แม้มีประการต่างๆ ก็ไม่มีความพยายามออกจากกิเลสทั้งหลาย เพราะไม่มีคุณมีความประกอบอย่างดีเป็นต้น.
               คำว่า เต เป็นคำอธิบายอุเทศที่ตั้งไว้ก่อน.
               ในคำว่า ปตฺติปตฺตา นี้ คุณควรบรรลุ เหตุนั้นจึงชื่อว่า ปตฺติ คุณที่ควรบรรลุ ซึ่งบุคคลบรรลุแล้วจะเป็นผู้เกษมปลอดจากโยคะสิ้นเชิง ชื่อว่า ปตฺตพฺพา. คำนี้เป็นชื่อของพระอรหัตผล. ผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปตฺติปตฺตา.
               บทว่า อมตํ ได้แก่ พระนิพพาน. บทว่า วิคยฺห ได้แก่ เข้าถึงโดยอารมณ์
               บทว่า ลทฺธา แปลว่า ได้แล้ว. บทว่า มุธา ได้แก่ โดยไม่มีค่า คือไม่ทำค่าแม้เพียงกากณึกหนึ่ง.
               บทว่า นิพฺพุตึ ได้แก่ ผลสมาบัติ ที่ระงับความกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสเสียแล้ว.
               บทว่า ภุญฺชมานา ได้แก่ เสวยอยู่.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ท่านอธิบายว่า ชนเหล่าใด ในศาสนาของพระโคดมนี้ ชื่อว่าประกอบดีแล้วเพราะถึงพร้อมด้วยศีล ชื่อว่ามีใจหนักแน่นเพราะถึงพร้อมด้วยสมาธิ ชื่อว่าไร้ความอาลัยเพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น ก็เข้าถึงอมตะด้วยสัมมาปฏิบัตินี้เป็นผู้ได้เปล่าๆ เสวยความดับ ซึ่งเข้าใจได้ว่าผลสมาบัติ ชื่อว่า เป็นผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของสังฆรัตนะ โดยพระขีณาสวบุคคล ผู้เสวยผลสมาบัติอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
               ความแห่งสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวก่อนแล้ว พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถาแม้นี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า ยถินฺทขีโล                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะมีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้ง โดยขีณาสวบุคคล อย่างนี้แล้ว ทรงเริ่มตรัส โดยคุณของพระโสดาบันเท่านั้นว่า ยถินฺทขีโล เป็นต้น.
               ในคำนั้น บทว่า ยถา เป็นคำอุปมา.
               คำว่า อินฺทขีโล นี้ เป็นชื่อของเสาไม้แก่นที่เขาตอกจมดิน ๘ ศอก หรือ ๑๐ ศอก ภายในธรณีประตู เพื่อป้องกันประตูพระนคร.
               บทว่า ปฐวึ แปลว่า แผ่นดิน. บทว่า สิโต ได้แก่ เข้าไปอาศัยอยู่ข้างใน.
               บทว่า สิยา แปลว่า พึงเป็น. บทว่า จตุพฺภิ วาเตหิ แปลว่า อันลมที่พัดมาแต่ ๔ ทิศ.
               บทว่า อสมฺปิกมฺปิโย ได้แก่ ไม่อาจให้ไหว หรือขยับเขยื้อนได้. บทว่า ตถูปมํ แปลว่า เหมือนฉันนั้น.
               บทว่า สปฺปุริสํ ได้แก่ บุรุษสูงสุด. บทว่า วทามิ แปลว่า กล่าว.
               บทว่า โย อริยสจฺจานิ อเวจฺจ ปสฺสติ แปลว่า ผู้ใดหยั่งเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา. ในข้อนั้น อริยสัจทั้งหลายพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในกุมารปัญหา และคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ส่วนความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้ เหมือนอย่างว่า
               เสาเขื่อนจมติดดิน เพราะมีรากลึก ลมพัดมา ๔ ทิศก็พึงให้ไหวไม่ได้ ฉันใด สัตบุรุษใดหยั่งเห็นอริยสัจ เรากล่าวสัตบุรุษแม้นี้ อุปมาฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะเหตุไร
               เพราะเหตุว่า สัตบุรุษแม้นั้นเป็นผู้อันลมคือวาทะของเดียรถีย์ทั้งปวงทำให้ไหวไม่ได้ คือใครๆ ก็ไม่อาจให้ไหวหรือเขยื้อนจากทัสสนะนั้นได้ เหมือนเสาเขื่อนอันลมพัดมา ๔ ทิศทำให้ไหวไม่ได้ฉะนั้น.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แม้ในสูตรอื่นว่า๑-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสาเหล็กหรือเสาเขื่อนลง
                         รากลึก ฝังอย่างดี ไม่หวั่น ไม่ไหว แม้หากว่าลมฝน
                         แรงกล้าพัดมาด้านทิศบูรพา, ก็ไม่พึงหวั่นไม่พึงไหว
                         ไม่พึงขยับเขยื้อน แม้หากว่าลมฝนแรงกล้าพัดมาด้าน
                         ทิศปัจฉิม, ทิศทักษิณ, ทิศอุดร ก็ไม่พึงหวั่นไม่พึง
                         ไหว ไม่พึงขยับเขยื้อน เพราะเหตุไร เพราะลงราก
                         ลึก เพราะเสาเขื่อนเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด ดูก่อน
                         ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
                         ย่อมรู้ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
                         ปฏิปทา สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ตรวจดู
                         หน้าของสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ท่านเมื่อรู้ ก็รู้
                         เมื่อเห็นก็เห็นอย่างนี้แน่นอน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะอริยสัจ ๔ สมณะหรือ
                         พราหมณ์ผู้นั้นเห็นอย่างดีแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๑-สํ. มหา. ๑๙/๑๗๒๓/๕๕๕

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของสังฆรัตนะโดยอำนาจพระโสดาบัน ที่ประจักษ์แก่คนเป็นอันมากเท่านั้นอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์.
               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั้นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถาแม้นี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า เย อริยสจฺจานิ                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะ อันมีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้งด้วยคุณของพระโสดาบัน โดยไม่แปลกกันอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสว่า เย อริยสจฺจานิ เป็นต้น ด้วยคุณของพระโสดาบันสัตตักขัตตุปรมะ น้องน้อยของพระโสดาบันทั้งหมด บรรดาพระโสดาบัน ๓ ประเภท คือ เอกพิชี โกลังโกละ สัตตักขัตตุปรมะ
               เหมือนที่ตรัสไว้ว่า๑-
                                   บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ ย่อมชื่อว่าโสดาบัน
                         เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ โสดาบันนั้นบังเกิดภพเดียวเท่านั้น
                         ก็ทำที่สุดทุกข์ นี้ชื่อ เอกพิชี. โสดาบันท่องเที่ยวอยู่ ๒
                         หรือ ๓ ตระกูล ก็เหมือนกัน ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้ นี้ชื่อ
                         โกลังโกละ โสดาบันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทวดา
                         และมนุษย์ ๗ ครั้ง ก็เหมือนกันย่อมทำที่สุดทุกข์ได้ นี้
                         ชื่อ สัตตักขัตตุปรมะ.
____________________________
๑-อภิ. ปุ. ๓๖/๔๗/๑๔๗

               ในคำนั้น คำว่า เย อริยสจฺจานิ นี้มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า วิภาวยนฺติ ได้แก่ กำจัดความมืดคือกิเลสอันปกปิดสัจจะแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งปรากฎแก่ตนด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา.
               บทว่า คมฺภีรปญฺเญน ได้แก่ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญา มีกำลังซึ่งใครๆ ไม่ได้ด้วยญาณของโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก ด้วยพระปัญญาที่หาประมาณมิได้ ท่านอธิบายว่า ผู้เป็นสัพพัญญู.
               บทว่า สุเทสิตานิ ได้แก่ ทรงแสดงด้วยดีด้วยนัยนั้นๆ มีสมาสนัย อัพพยาสนัย สากัลยนัย เวกัลยนัยเป็นต้น.
               บทว่า กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา ความว่า บุคคลทั้งหลายผู้อบรมอริยสัจแล้วเหล่านั้น อาศัยฐานะแห่งความประมาท มีความเป็นเทวราชและความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นผู้ประมาทอย่างร้ายแรง ก็จริง ถึงเช่นนั้น นามรูปใดพึงตั้งอยู่เพราะวิญญาณที่โสดาปัตติมรรคญาณปรุงแต่งดับไป แล้วเกิดในสังสารวัฏที่มีเบื้องต้นเบื้องปลายตามไปไม่รู้แล้ว ถึง ๗ ภพ ก็ไม่ถือเอาภพที่ ๘ เพราะนามรูปนั้นดับไป เพราะตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ในภพที่ ๗ นั่นเอง ก็จักเริ่มวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของสังฆรัตนะ โดยพระโสดาบันสัตตักขัตตุปรมะอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
               ความของสัจจวนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า สหาวสฺส                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะมีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้ง ด้วยคุณคือการไม่ถือเอาภพที่ ๘ ของพระโสดาบันสัตตักขัตตุปรมะอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงเริ่มตรัสว่า สหาวสฺส เป็นต้น ด้วยคุณของพระโสดาบันสัตตักขัตตุปรมะนั้นนั่นแล แม้จะยังถือภพ ๗ ภพ ซึ่งแปลกจากบุคคลอื่นๆ ที่ยังละการถือภพไม่ได้.
               ในคำนั้น บทว่า สหาว แปลว่า พร้อมกับ. บทว่า อสฺส ได้แก่ ของบรรดาพระโสดาบันที่ตรัสว่า พระโสดาบันเหล่านั้นไม่ถือเอาภพที่ ๘ ภพใดภพหนึ่ง.
               บทว่า ทสฺสนสมฺปทาย ได้แก่ ด้วยความถึงพร้อมแห่งโสดาปัตติมรรค. จริงอยู่ โสดาปัตติมรรคเห็นพระนิพพานแล้ว ท่านจึงเรียกว่า ทัสสนะ เพราะเห็นพระนิพพานก่อนธรรมทั้งปวง ด้วยความถึงพร้อมแห่งกิจที่ควรทำ. ความปรากฏแห่งโสดาปัตติมรรคนั้นอยู่ในตน ชื่อว่า ทัสสนสัมปทา พร้อมด้วยทัสสนสัมปทานั้นนั่นแล.
               ศัพท์ว่า สุ ในคำว่า ตยสฺสุ ธมฺมา ชหิตา ภวนฺติ นี้เป็นนิบาต ลงในอรรถสักว่าทำบทให้เต็ม เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า๑-
                         อิทํ สุ เม สาริปุตฺต มหาวิกฏโภชนสฺมึ โหติ
                         ดูก่อนสารีบุตร นี้แลเป็นการฉันอาหารแบบมหาวิกัฏของเราละ
____________________________
๑-ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๘๒

               ในข้อนี้มีความอย่างนี้ว่า เพราะเหตุว่า ธรรมดา [สังโยชน์เบื้องต่ำ ๓] ย่อมเป็นอันพระโสดาบันละได้แล้ว เป็นอันสละแล้ว พร้อมด้วยทัสสนสัมปทาของพระโสดาบันนั้น.
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมที่พระโสดาบันละได้แล้ว จึงตรัสว่า
                         สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ สีลพฺพตํ วาปิ ยทตฺถิ กิญฺจิ
               ในธรรม ๓ อย่างนั้น เมื่อกายยังมีอยู่ ทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ในกายที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ ชื่อว่า สักกายทิฏฐิ หรือว่าเมื่อกายยังมีอยู่ ทิฏฐิความเห็นในกายนั้น แม้เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า สักกายทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิที่มีอยู่ในกาย ตามที่กล่าวมาแล้ว. หรือทิฏฐิความเห็นในกายที่มีอยู่นั่นแล แม้เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า สักกายทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิในกายตามที่กล่าวมาแล้ว อันมีอยู่ ซึ่งเป็นไปอย่างนี้ว่า อัตตา กล่าวคือรูปเป็นต้น. ทิฏฐิทั้งปวง ย่อมเป็นอันพระโสดาบันละแล้วทั้งนั้น เพราะละสักกายทิฏฐินั้นได้แล้ว ด้วยว่า สักกายทิฏฐินั้นเป็นมูลรากของธรรม คือกิเลสเหล่านั้น
               ปัญญาท่านเรียกว่า จิกิจฉิตะเพราะระงับพยาธิคือกิเลสทั้งปวง. ปัญญาจิกิจฉิตะ ปัญญาแก้ไขนั้น ไปปราศแล้วจากสิ่งนี้หรือสิ่งนี้ ไปปราศแล้วจากปัญญาจิกิจฉิตะนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า วิจิกิจฉิตะ. คำนี้เป็นชื่อของความสงสัยที่มีวัตถุ ๘ ที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า สงสัยในพระศาสดา.๒- ความสงสัยแม้ทั้งหมด เป็นอันละได้แล้วก็เพราะละวิจิกิจฉานั้นได้แล้ว จริงอยู่ ความสงสัยนั้นเป็นมูลรากของกิเลสเหล่านั้น.
               ศีลต่างอย่างมีโคศีล ศีลวัว กุกกุรศีล ศีลสุนัขเป็นต้น และวัตรมีโควัตรและกุกกุรวัตรเป็นต้น ที่มาในบาลีประเทศเป็นต้นอย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์ภายนอกพระศาสนานี้ ถือความบริสุทธิ์ด้วยศีล บริสุทธิ์ด้วยวัตรเรียกว่า ศีลวัตร.๓- ตบะเพื่อเทพเจ้ามีความเปลือยกาย ความมีศีรษะโล้นเป็นต้นแม้ทุกอย่าง เป็นอันละได้แล้ว ก็เพราะละศีลวัตรนั้น. จริงอยู่ ศีลวัตรนั้นเป็นมูลรากของตบะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ท้ายคาถาทั้งหมดว่า
                         ยทตฺถิ กิญฺจิ อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่.
               พึงทราบว่าบรรดาสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ นั้น สักกายทิฏฐิจะละได้ก็ด้วยความถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ วิจิกิจฉาจะละได้ ก็ด้วยความถึงพร้อมด้วยการเห็นสมุทัย สีลัพพตะ [ปรามาส] จะละได้ ก็ด้วยความถึงพร้อมด้วยการเห็นมรรคและการเห็นพระนิพพาน.
____________________________
๒-อภิ. สงฺ. ๓๔/๖๗๒/๒๖๓ ฯอภิ. วิ. ๓๕/๙๓๒/๔๙๓ ฯ
๓-อภิ. สงฺ. ๓๔/๗๘๓/๓๐๗ ฯอภิ. วิ. ๓๕/๙๖๒/๕๐๕ ฯ
               พรรณาคาถาว่า จตูหปาเยหิ                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการละกิเลสวัฏของพระโสดาบันนั้นอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เมื่อกิเลสวัฏนั้นมีอยู่ วิปากวัฏใดพึงมี เมื่อทรงแสดงการละวิปากวัฏแม้นั้น เพราะละกิเลสวัฏนั้นได้ จึงตรัสว่า จตูหปาเยหิ จ วิปฺปมุตฺโต
               ในคำนั้น ชื่อว่าอบายมี ๔ คือ นิรยะ ติรัจฉานะ เปตติวิสยะและอสุรกายะ
               อธิบายว่า พระโสดาบันนั้น แม้ยังถือภพ ๗ ก็หลุดพ้นจากอบายทั้ง ๔ นั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการละวิปากวัฏของพระโสดาบันนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ กรรมวัฏใด เป็นมูลรากของวิปากวัฏนี้
               เมื่อทรงแสดงการละกรรมวัฏแม้นั้น จึงตรัสว่า
                         ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตุ ํ
                         และไม่ควรทำอภิฐานะ ๖.
               ในคำนั้น บทว่า อภิฐานานิ ได้แก่ ฐานะอันหยาบ. พระโสดาบันนั้นไม่ควรทำอภิฐานะนั้น.
               ก็อภิฐานะเหล่านั้น พึงทราบว่า กรรม คือ
                         มาตุฆาต ฆ่ามารดา
                         ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
                         อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
                         โลหิตุปบาท ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ
                         สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน
                         อัญญสัตถารุทเทส นับถือศาสดาอื่นคือเข้ารีต
               ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเอกนิบาต อังคุตตรนิกาย โดยนัยเป็นต้นว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ [สัมมาทิฏฐิ] จะพึงปลงชีวิตมารดาเสีย ไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาส [คือเป็นไปไม่ได้].
____________________________
๑-องฺ. เอก. ๒๐/๑๕๖/๓๕;ม. อุ. ๑๔/๒๔๕/๑๗๐

               จริงอยู่ อริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่พึงปลงชีวิตแม้แต่มดดำมดแดงก็จริง ถึงอย่างนั้น อภิฐานะ ๖ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก็เพื่อตำหนิภาวะแห่งปุถุชน. แท้จริง ปุถุชนย่อมทำแม้อภิฐาน ซึ่งมีโทษมากอย่างนี้ได้ ก็เพราะไม่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ส่วนพระโสดาบัน ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่ควรจะทำอภิฐานะเหล่านั้น.
               ส่วนการใช้ อภัพพศัพท์ ในที่นี้ ก็เพื่อแสดงว่าพระโสดาบันไม่ทำแม้ในภพอื่น. ความจริง แม้ในภพอื่น พระโสดาบันถึงไม่รู้ว่าตนเป็นอริยสาวกโดยธรรมดานั่นเอง ก็ไม่ทำบาป ๖ อย่างนั้น หรือทำเวร ๕ มีปาณาติบาตเป็นต้น หรือถึงฐานะ ๖ พร้อมกับการนับถือศาสดาอื่น ซึ่งอาจารย์บางพวกหมายถึงแล้วกล่าวว่า ฉ จาภิฐานานิ ดังนี้ก็มี ก็พระอริยสาวกและเด็กชาวบ้านผู้จับปลาตายเป็นต้น เป็นตัวอย่างในข้อนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของอริยสาวกแม้ยังถือภพ ๗ อยู่ ซึ่งเป็นสังฆรัตนะ โดยคุณที่แปลกจากบุคคลอื่นๆ ที่ยังละการถือภพไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์นั้น.
               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า กิญฺจาปิ โส                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะมีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้ง โดยที่แปลกจากบุคคลอื่น ที่ยังละการถือภพไม่ได้ของพระโสดาบันแม้ยังถือภพ ๗ ภพ อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ พระโสดาบันผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ไม่ใช่ไม่ควรทำอภิฐานะ ๖ อย่างเดียวก็หาไม่ ทั้งยังไม่ควรทำบาปกรรมแม้เล็กน้อยอะไรๆ แล้วปกปิดบาปกรรมนั้นด้วย
               ดังนั้น จึงทรงเริ่มตรัสโดยคุณ คือพระโสดาบันผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ แม้อยู่ด้วยความประมาท ก็ไม่มีการปกปิดกรรมที่ทำมาแล้วว่า
                         กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ
                         พระโสดาบันนั้น แม้ทำบาปกรรมก็จริง.
               พระดำรัสนั้นมีความดังนี้ ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นถึงพร้อมด้วยทัสสนะ อาศัยการอยู่อย่างประมาทด้วยหลงลืมสติ เว้นสิกขาบทที่เป็นโลกวัชชะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงการจงใจล่วงละเมิด ตรัสไว้ว่า
               สิกขาบทใด เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นของเรา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ดังนี้๑-
____________________________
๑-วิ. จุลฺ. ๗/๔๕๘/๒๘๙ ฯองฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๓ ฯขุ. อิติ. ๒๕/๑๑๘/๑๕๖ ฯ

               ย่อมทำบาปกรรมอย่างอื่นทางกาย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ กล่าวคือ การล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นปัณณัติวัชชะ มีกุฏิการสิกขาบทและสหเสยยสิกขาบทเป็นต้นก็ดี ทำบาปกรรมทางวาจา มีสอนธรรมแก่อนุปสัมบันว่าพร้อมกัน แสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ การพูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบเป็นต้นก็ดี ทำบาปกรรมทางใจ ไม่ว่าในที่ไหนๆ คือ การทำให้เกิดโลภะ โทสะ การยินดีทองเป็นต้น การไม่พิจารณาเป็นต้นในการบริโภคจีวรเป็นอาทิก็ดี พระโสดาบันนั้น ก็ไม่ควรปกปิดบาปกรรมนั้น คือพระโสดาบันนั้น รู้ว่ากรรมนี้ไม่สมควร ไม่ควรทำ ก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้น แม้แต่ครู่เดียว ในทันใดนั้นเอง ก็กระทำให้แจ้งคือเปิดเผยในพระศาสดา หรือในเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนแล้ว กระทำคืนตามธรรม หรือระวังข้อที่ควรระวัง อย่างนี้ว่าข้าพเจ้าจักไม่ทำอีก.
               เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความที่พระโสดาบันผู้เห็นบท คือพระนิพพานแล้ว ไม่ควรปกปิดบาปกรรม
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความที่บุคคล ผู้เห็นบท คือพระนิพพาน ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ไม่ควรที่จะทำบาปกรรมแม้เห็นปานนั้น แล้วปกปิดบาปกรรมนั้นไว้.
               ตรัสไว้อย่างไร. ตรัสไว้ว่า๒-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กเยาว์อ่อนนอนหงาย
                         เอามือเอาเท้าเหยียบถ่านไฟ ย่อมหดกลับฉับพลัน
                         ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงแม้ว่า พระโสดาบัน
                         ต้องอาบัติเห็นปานนั้น การออกจากอาบัติเห็นปาน
                         นั้น ย่อมปรากฏ ทีนั้นแหละ พระโสดาบันย่อมรีบ
                         แสดง เปิดเผย ทำให้ง่าย ในพระศาสดา หรือใน
                         เพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชน ครั้นแล้วก็สำรวม
                         ระวังต่อไป นี้เป็นธรรมดาของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย
                         ทิฏฐิ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๒-ม. มู. ๑๒/๕๔๖/๕๘๖

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของสังฆรัตนะด้วยคุณของพระโสดาบัน แม้อยู่ด้วยความประมาท แต่ก็ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ไม่มีการปกปิดบาปกรรมที่ทำแล้วอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์.
               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วทั้งนั้น. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า วนปฺปคุมฺเพ                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะ มีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้งโดยประการแห่งคุณนั้นๆ ของบุคคลทั้งหลาย ที่เนื่องอยู่ในพระสงฆ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยพระปริยัติธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงคุณพระรัตนตรัย ก็ทรงแสดงอย่างสังเขปในที่นี้ และทรงแสดงไว้พิศดารในที่อื่น จึงทรงเริ่มตรัสสัจจวจนะ มีพระพุทธรัตนะเป็นที่ตั้งอีกว่า วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
               ในสัจจวจนะนั้น กลุ่มต้นไม้ที่กำหนดด้วยถิ่นที่อยู่ประจำอันใกล้ชื่อว่า วนะ ป่า. พุ่มไม้ที่งอกงามด้วยรากแก่นกระพี้เปลือกกิ่งและใบ ชื่อว่า ปคุมพะ. พุ่มไม้ที่งอกงามของป่าหรือในป่า ชื่อว่า วนปฺปคุมฺโพ. พุ่มไม้ที่งอกงามในป่านี้นั้น ท่านเรียกว่า วนปฺปคุมฺเพ เมื่อเป็นดังนั้น ก็เรียกได้ว่า วนสัณฑะ ราวป่า เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า อตฺถิ สวิตกฺกกสวิจาเร, อตฺถิ อวิตกฺกวิจารมตฺเต, สุเข ทุกฺเข ชีเว, มีวิตกมีวิจารก็มี ไม่มีวิตกมีวิจารก็มี, ชีพเป็นสุข เป็นทุกข์.
               คำว่า ยถา เป็นคำอุปมา.
               ยอดของพุ่มไม้นั้นบานแล้ว เหตุนั้น พุ่มไม้นั้นจึงชื่อว่ามียอดบานแล้ว.
               อธิบายว่า ดอกไม้ที่เกิดเองที่กิ่งใหญ่กิ่งน้อยทุกกิ่ง. ดอกไม้นั้น ท่านกล่าวว่ามียอดอันบานแล้ว ตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล.
               บทว่า คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมึ คิมฺเห ความว่า ในเดือนหนึ่งแห่งเดือนในฤดูคิมหันต์ ๔ เดือน. ถ้าจะถามว่า ในเดือนไหน. ตอบว่า ในฤดูคิมหันต์เดือนต้น อธิบายว่า ในเดือนจิตรมาส เดือน ๕. จริงอยู่ เดือนจิตรมาสนั้น ท่านเรียกว่าเดือนต้นฤดูคิมหันต์ และว่าฤดูวัสสานะอ่อนๆ
               คำนอกจากนั้น ปรากฏชัดโดยอรรถแห่งบทแล้วทั้งนั้น.
               ส่วนความรวมในคำนี้มีดังนี้ว่า
               พุ่มไม้ที่งอกงามมีนามเรียกว่า กอไม้ รุ่น ยอดกิ่งมีดอกบานสะพรั่ง ย่อมสง่างามอย่างเหลือเกิน ในป่าที่รกชัฏด้วยต้นไม้นานาชนิดในฤดูวสันต์อ่อนๆ ที่มีชื่อว่า เดือนต้นฤดูคิมหันต์ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า มิใช่ทรงแสดงเพราะเห็นแก่ลาภ มิใช่ทรงแสดงเพราะเห็นแก่สักการะเป็นต้น หากแต่มีพระหฤทัยอันพระมหากรุณาให้ทรงขะมักเขม้นอย่างเดียว ได้ทรงแสดงพระปริยัติธรรมอันประเสริฐที่ชื่อว่า มีอุปมาเหมือนอย่างนั้น เพราะสง่างามอย่างยิ่งด้วยดอกไม้ คือประเภทแห่งอรรถนานาประการ มีขันธ์อายตนะเป็นต้นก็มี มีสติปัฏฐานและสัมมัปปธานเป็นต้นก็มี มีศีลขันธ์สมาธิขันธ์เป็นต้นก็มี ชื่อว่า ให้ถึงพระนิพพาน เพราะแสดงมรรคอันให้ถึงพระนิพพาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
               ส่วนในคำว่า ปรมํ หิตาย ท่านลงนิคคหิต ก็เพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา. ส่วนความมีดังนี้ว่า ได้ทรงแสดง เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง คือเพื่อพระนิพพาน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสพระปริยัตติธรรม ที่เสมือนพุ่มไม้งามในป่า ที่ยอดกิ่งออกดอกบานสะพรั่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยพระปริยัตติธรรมนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะ ที่มีพุทธรัตนะเป็นที่ตั้งว่า
                         อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
                         แม้อันนี้ ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า.
               ความแห่งสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล.
               แต่พึงประกอบความอย่างเดียวอย่างนี้ว่าคุณชาต กล่าวคือพระปริยัตติธรรมมีประการตามที่กล่าวมาแล้ว แม้นี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า.
               พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า วโร วรญฺญู                               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะ ที่มีพุทธรัตนะเป็นที่ตั้งด้วยปริยัตติธรรมอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสด้วยโลกุตรธรรมว่า วโร วรญฺญู.
               ในคำนั้น บทว่า วโร ความว่า พระพุทธเจ้าผู้อันผู้มีอัธยาศัยน้อมใจเชื่อที่ประณีตปรารถนาว่า โอหนอ! แม้เรา ก็จักเป็นเช่นนี้. หรือพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ สูงสุด ประเสริฐสุด เพราะประกอบด้วยพระคุณอันประเสริฐ.
               บทว่า วรญฺญู ได้แก่ ผู้ทรงรู้พระนิพพาน. จริงอยู่ พระนิพพานชื่อว่า ประเสริฐ เพราะอรรถว่าสูงสุดกว่าธรรมทั้งปวง. ก็พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้ปรุโปร่ง ซึ่งพระนิพพานนั้น ที่โคนโพธิพฤกษ์ ด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า วรโท. ความว่า ประทานธรรมอันประเสริฐที่เป็นส่วนตรัสรู้ และส่วนที่อบรมบ่มบารมีแก่สาวกทั้งหลาย มีพระปัญจวัคคีย์ พระภัททวัคคีย์ และชฏิลเป็นต้น และแก่เทวดาและมนุษย์อื่นๆ
               บทว่า วราหโร ได้แก่ ที่เรียกว่า วราหโร เพราะทรงนำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามทีปังกร ทรงนำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐเก่าๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ก่อนๆ ทรงดำเนินมาแล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงถูกเรียกว่า วราหโร ผู้นำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้า ชื่อว่า วโร ผู้ประเสริฐ เพราะทรงได้พระสัพพัญญุตญาณ.
               ชื่อว่า วรัญญู ผู้รู้ธรรมอันประเสริฐ เพราะทรงทำให้แจ้งพระนิพพาน
               ชื่อว่า วรโท ผู้ประทานธรรมอันประเสริฐ เพราะประทานวิมุตติสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย
               ชื่อว่า วราโห ผู้นำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ เพราะทรงนำมาซึ่งปฎิปทาสูงสุด
               ชื่อว่า อนุตตโร ยอดเยี่ยม เพราะไม่มีคุณอะไรๆ ที่ยิ่งกว่าโลกุตรคุณเหล่านั้น.
               มีนัยอื่นอีกว่า ชื่อว่า วโร เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ ความสงบระงับ.
               ชื่อว่า วรัญญู เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญาความรอบรู้.
               ชื่อว่า วรโท เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ ความสละ
               ชื่อว่า วราหโร เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยอธิษฐานธรรม คือสัจจะ ความจริงใจ. ทรงนำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ.
               อนึ่ง ชื่อว่า วโร เพราะทรงอาศัยบุญ ชื่อว่า วรัญญู ก็เพราะทรงอาศัยบุญ
               ชื่อว่า วรโท เพราะทรงมอบอุบายแห่งบุญนั้นแก่ผู้ต้องการเป็นพระพุทธเจ้า.
               ชื่อว่า วราโห เพราะทรงนำมาซึ่งอุบายแห่งบุญนั้นแก่ผู้ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               ชื่อว่า อนุตฺตโร เพราะไม่มีผู้เสมอเหมือนในธรรมนั้นๆ หรือเพราะเป็นผู้ไม่มีอาจารย์ แต่กลับเป็นอาจารย์ของคนอื่นๆ ด้วยพระองค์เอง ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ เพราะทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ที่ประกอบด้วยคุณมีธรรมที่ตรัสดีแล้วเป็นต้น เพื่อผลนั้นแก่ผู้ต้องการเป็นสาวก.
               คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของพระองค์ด้วยโลกุตรธรรม ๙ ประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ เป็นต้น
               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล
               แต่พึงประกอบความอย่างเดียวอย่างนี้ว่า
               พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสรู้โลกุตรธรรมอันประเสริฐได้ด้วย ได้ประทานโลกุตรธรรมได้ด้วย ทรงนำมาซึ่งโลกุตรธรรมได้ด้วย ทรงแสดงโลกุตรธรรมได้ด้วย
               แม้อันนี้ ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
               พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               พรรณนาคาถาว่า ขีณํ                               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยปริยัตติธรรมและโลกุตรธรรม แล้วตรัสสัจจวจนะ มีพุทธรัตนะเป็นที่ตั้ง ด้วย ๒ คาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณ คือการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานของพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งได้สดับปริยัตติธรรมนั้น และปฏิบัติตามแนวที่ได้สดับมาแล้ว ได้บรรลุโลกุตรธรรมทั้ง ๙ ประการ จึงทรงเริ่มตรัสสัจจวจนะ มีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้งอีกว่า ขีณํ ปุราณํ.
               ในสัจจวจนะนั้น บทว่า ขีณํ ได้แก่ ตัดขาด.
               บทว่า ปุราณํ แปลว่า เก่า.
               บทว่า นวํ ได้แก่ ในบัดนี้ ที่กำลังเป็นไป คือปัจจุบัน.
               บทว่า นตฺถิ สมฺภวํ ได้แก่ ความปรากฏ [เกิด] ไม่มี.
               บทว่า วิรตฺตจิตฺตา ได้แก่ มีจิตปราศจากราคะ.
               บทว่า อายติเก ภวสฺมึ ได้แก่ ในภพใหม่ ในอนาคตกาล.
               บทว่า เต ได้แก่ ภิกษุขีณาสพที่สิ้นกรรมภพเก่า ไม่มีกรรมภพใหม่ และมีจิตปราศจากกำหนัดในภพต่อไป.
               บทว่า ขีณพีชา ได้แก่ ผู้มีพืชถูกถอนแล้ว.
               บทว่า อวิรุฬฺหิฉนฺทา ได้แก่ ผู้เว้นจากฉันทะที่งอกได้. นิพฺพนฺติ ได้แก่ สิ้นไป.
               บทว่า ธีรา ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาชื่อ ธิติ.
               บทว่า ยถายมฺปทีโป แปลว่า เหมือนประทีปดวงนี้.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ท่านอธิบายไว้ว่า
               กรรมนั้นใดของสัตว์ทั้งหลายเกิดแล้วดับไป เป็นกรรมเก่า เป็นอดีตกาล ย่อมยังไม่สิ้นไป เพราะสามารถนำมาซึ่งปฏิสนธิ เพราะละสิเนหะคือตัณหายังไม่ได้ กรรมเก่านั้นของภิกษุขีณาสพเหล่าใด ชื่อว่าสิ้นไป ก็เพราะไม่สามารถให้วิบากต่อไป ดุจพืชที่ไฟเผาแล้ว เพราะสิเนหะคือตัณหาเหือดแห้งไปด้วยพระอรหัตมรรค และกรรมใดของภิกษุขีณาสพเหล่าใด ที่เป็นไปในปัจจุบัน ด้วยอำนาจพุทธบูชาเป็นต้น เรียกว่ากรรมใหม่. ก็กรรมใหม่นั้นของภิกษุขีณาสพเหล่าใด ก็ไม่ก่อภพได้ เพราะไม่สามารถให้ผลต่อไป เหมือนดอกของต้นไม้ที่มีรากขาดแล้ว เพราะละตัณหาได้นั่นเอง.
               อนึ่ง ภิกษุขีณาสพเหล่าใดมีจิตหน่ายแล้วในภพต่อไป เพราะละตัณหาได้นั่นแหละ ภิกษุขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่ามีพืชสิ้นแล้ว เพราะปฏิสนธิวิญญาณ ที่ท่านกล่าวไว้ในคำนี้ว่า กรรมคือนา วิญญาณคือพืช๑- สิ้นไป เพราะสิ้นกรรมนั่นเอง ฉันทะแม้อันใดของความเกิด กล่าวคือ ภพใหม่ได้มีมาแล้วแต่กาลก่อน. ภิกษุขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่ามีฉันทะไม่งอก เพราะไม่เกิดในเวลาจุติเหมือนแต่ก่อน เพราะฉันทะแม้อันนั้น ละได้แล้ว เพราะละสมุทัยนั่นเอง ชื่อว่าปราชญ์ เพราะถึงพร้อมด้วยธิติปัญญา ย่อมดับเหมือนประทีปดวงนี้ ดับไปฉะนั้น เพราะจริมวิญญาณดับไป ย่อมล่วงทางแห่งบัญญัติเป็นต้นอย่างนี้ว่า มีรูปหรือไม่มีรูปอีก.
____________________________
๑-องฺ. ติก. ๒๐/๕๑๖/๒๘๗

               ได้ยินว่า บรรดาประทีปหลายดวง ที่เขาตามไว้เพื่อบูชาเทวดาประจำเมืองในสมัยนั้น ประทีปดวงหนึ่งดับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงชี้ประทีปดวงนั้น จึงตรัสว่า ยถายมฺปทีโป เหมือนประทีปดวงนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณ คือการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานของพระขีณาสพ ที่สดับปริยัติติธรรม ที่ตรัสด้วย ๒ คาถาก่อนนั้น ทั้งปฏิบัติตามแนวปริยัติธรรมที่สดับแล้วบรรลุโลกุตรธรรมทั้ง ๙ ประการอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล เมื่อทรงประกอบสัจจวจนะ มีสังฆรัตนะเป็นที่ตั้ง
               จึงทรงจบเทศนาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ เป็นต้น
               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล.
               แต่พึงประกอบความอย่างเดียวอย่างนี้ว่า คุณชาตกล่าวคือพระนิพพานของภิกษุขีณาสพ โดยประการตามที่กล่าวมาแล้ว แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์.
               พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
               จบเทศนา ความสวัสดีก็ได้มีแก่ราชสกุล. อุปัทวะทั้งปวงก็ระงับไป สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ตรัสรู้ธรรม.
               พรรณนา ๓ คาถาว่า ยานีธ เป็นต้น                               ครั้งนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยคุณพระรัตนตรัย ประกอบสัจจวจนะ ทรงทำความสวัสดีแก่ชาวนคร. แม้ตัวเราก็พึงกล่าวบางอย่างอาศัยคุณพระรัตนตรัย เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนคร ดังนี้แล้ว จึงตรัส ๓ คาถาท้ายว่า ยานีธ ภูตานิ เป็นต้น.
               ใน ๓ คาถานั้น เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่าตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างที่คนทั้งหลายต้องขวนขวายพากันมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก, เพราะเสด็จไปอย่างที่คนเหล่านั้น จะพึงไป, เพราะทรงรู้ทั่วอย่างที่คนเหล่านั้นจะพึงรู้ทั่ว, เพราะทรงรู้อย่างที่คนเหล่านั้นจะพึงรู้, เพราะทรงประสบสิ่งที่มีที่เป็นอย่างนั้น
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาอย่างเหลือเกิน ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นที่เกิดภายนอก เป็นอุปกรณ์และที่เกิดในตนมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นต้น ฉะนั้น
               ท้าวสักกะเทวราชทรงประมวลเทวบริษัททั้งหมดกับพระองค์แล้วตรัสว่า
                         ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ
                         พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้าผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดี จงมี.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่ในพระธรรม มรรคธรรมดำเนินไปแล้วอย่างที่พึงดำเนินไปด้วยการถอนฝ่ายกิเลส ด้วยกำลังสมถวิปัสสนาซึ่งเป็นธรรมคู่กัน แม้นิพพานธรรมอันพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงบรรลุแล้วอย่างที่ทรงบรรลุ คือแทงตลอดแล้วด้วยปัญญา พร้อมที่จะกำจัดทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ตถาคต.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่แม้พระสงฆ์ดำเนินไปแล้วอย่างที่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนพึงดำเนินไปโดยมรรคนั้นๆ เหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ตถาคต.
               ฉะนั้น แม้ใน ๒ คาถาที่เหลือ ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า
                         พวกเรานอบน้อมตถาคตธรรม ขอความสวัสดีจงมี
                         พวกเรานอบน้อมตถาคตสงฆ์ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้.
               คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.
               ท้าวสักกะเทวราชครั้นตรัส ๓ คาถานี้อย่างนี้เแล้ว ทรงทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จกลับสู่เทวบุรีพร้อมด้วยเทวบริษัท.
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงรัตนสูตรนั้นนั่นแล. แม้ในวันที่ ๒ สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ตรัสรู้ธรรม. ทรงแสดงอย่างนี้ ถึงวันที่ ๗. การตรัสรู้ธรรมก็ได้มีอย่างนั้นนั่นแหละ ทุกๆ วัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงเวสาลีกึ่งเดือนแล้ว จึงทรงแจ้งแก่พวกเจ้าลิจฉวีว่าจะกลับ ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็นำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ด้วยสักการะเป็นทวีคูณอีก ๓ วัน
               เหล่าพระยานาคที่บังเกิดอยู่ ณ แม่น้ำคงคาคิดกันว่า พวกมนุษย์ทำสักการะแก่พระตถาคตกัน พวกเราจักไม่ทำกันบ้างหรือ จึงสร้างเรือหลายลำล้วนทำด้วยทองเงินและแก้วมณี ลาดบัลลังก์ทำด้วยทองเงินและแก้วมณี ทำน้ำให้ปกคลุมด้วยบัว ๕ สี ทูลวอนขอพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์โปรดทรงทำความอนุเคราะห์พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ เสด็จขึ้นสู่เรือแก้ว ส่วนภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ขึ้นสู่เรือของตนๆ.
               พวกพระยานาคนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เข้าไปยังพิภพนาค.
               ข่าวว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่นาคบริษัท ตลอดคืนยังรุ่ง. วันที่ ๒ พวกพระยานาคพากันถวายมหาทานด้วยของเคี้ยวของฉันอันเป็นทิพย์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จออกจากพิภพนาค.
               พวกภุมมเทวดาพากันคิดว่า พวกมนุษย์และนาคพากันทำสักการะแก่พระตถาคต พวกเราจักไม่ทำกันบ้างหรือ จึงช่วยกันยกฉัตรใหญ่น้อยเหนือพุ่มไม้งามในป่า ต้นไม้ และภูเขา.
               โดยอุบายนั้นนั่นแล สักการะวิเศษขนาดใหญ่ ก็บังเกิดตราบถึงภพของอกนิษฐพรหม.
               แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทรงทำเป็นทวีคูณ กว่าสักการะที่พวกเจ้าลิจฉวีทรงทำครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ทรงนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ๕ วันจึงมาถึงกรุงราชคฤห์ โดยนัยที่กล่าวมาก่อนแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ภายหลังอาหาร พวกภิกษุที่นั่งประชุมกัน ณ ศาลาทรงกลมพูดในระหว่างกันอย่างนี้ว่า
               โอ อานุภาพของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า, ที่ภูมิภาค ๘ โยชน์ ทั้งฝั่งในทั้งฝั่งนอกแห่งแม่น้ำคงคา ถูกเจาะจงปรับที่ลุ่มที่ดอนให้เรียบแล้วโรยทราย ปกคลุมด้วยดอกไม้ทั้งหลาย แม่น้ำคงคาประมาณโยชน์หนึ่งก็ถูกปกคลุมด้วยบัวสีต่างๆ ฉัตรใหญ่น้อยถูกยกขึ้นตราบถึงภพของอกนิษฐพรหม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ออกจากพระคันธกุฎีเสด็จไปยังศาลาทรงกลมด้วยปาฏิหาริย์ที่เหมาะแก่ขณะนั้น ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่เขาจัดไว้ ณ ศาลาทรงกลม.
               ครั้นประทับนั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้ พวกเธอนั่งประชุมพูดกันด้วยเรื่องอะไร.
               ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลเรื่องทั้งหมด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บูชาวิเศษนี้มิได้บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ทั้งมิใช่เพราะอานุภาพของนาคเทวดาและพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ แต่ก่อนต่างหาก.
               พวกภิกษุจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่รู้การบริจาคเล็กๆ น้อยๆ นั้น สาธุ! ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดตรัสบอกพวกข้าพระองค์ อย่างที่พวกข้าพระองค์จะรู้การบริจาคเล็กๆ น้อยๆ นั้นด้วยเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในกรุงตักกสิลา มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อสังขะ เขามีบุตร ชื่อสุสีมมาณพ. มาณพนั้นอายุ ๑๖ ปีโดยวัย วันหนึ่งเข้าไปหาบิดา กราบแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. บิดาถามเขาว่า อะไรพ่อสุสีมะ. เขาตอบว่า ลูกอยากไปกรุงพาราณสีเรียนศิลปะจ้ะพ่อท่าน.
               พราหมณ์กล่าวว่า พ่อสุสีมะ ถ้าอย่างนั้น พ่อมีสหายเป็นพราหมณ์ชื่อโน้น พ่อจงไปหาเขาเล่าเรียนเถิด แล้วมอบทรัพย์ให้พันกหาปณะ.
               สุสีมมาณพนั้นรับทรัพย์แล้ว ก็กราบมารดาบิดา เดินทางไปกรุงพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาอาจารย์โดยวิธีประกอบด้วยความละเมียดละไม กราบแล้วรายงานตัว
               อาจารย์รู้ว่าเป็นลูกของสหาย ก็รับมาณพไว้ ได้ทำการต้อนรับอย่างดีทุกอย่าง
               มาณพนั้นคลายความเมื่อยล้าในการเดินทางไกลแล้ว ก็วางกหาปณะนั้นแทบเท้าอาจารย์ ขอโอกาสเรียนศิลปะ. อาจารย์ก็เปิดโอกาสให้เล่าเรียน เขาเรียนได้เร็วและเรียนได้มาก ทั้งทรงจำศิลปะที่รับไว้ๆ ได้ไม่เสื่อมสูญ เหมือนน้ำมันที่ใส่ลงในภาชนะทอง เขาเรียนศิลปะที่ควรจะเรียนถึง ๑๒ ปี ให้เสร็จสรรพ์ได้ โดย ๒-๓ เดือนเท่านั้น
               เขาทำการสาธยายเห็นแต่เบื้องต้นและเบื้องกลางเท่านั้น ไม่เห็นเบื้องปลาย จึงเข้าไปหาอาจารย์ถามว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเห็นแต่เบื้องต้นและเบื้องกลางของศิลปะนี้เท่านั้น ไม่เห็นเบื้องปลายเลย
               อาจารย์ก็กล่าวว่า เราก็เห็นอย่างนั้นเหมือนกันแหละพ่อเอ๋ย.
               เขาจึงถามว่า ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นดังนั้น ใครเล่ารู้เบื้องปลายของศิลปะนี้.
               อาจารย์กล่าวว่า พ่อเอ๋ย ที่ป่าอิสิปตนะมีฤษีหลายองค์ ฤษีเหล่านั้นคงรู้.
               เขาบอกว่า อาจารย์ ข้าพเจ้าจะเข้าไปถามฤษีเหล่านั้นเอง.
               อาจารย์ก็บอกว่า ไปถามตามสบายเถิด พ่อเอ๋ย.
               เขาก็ไปยังป่าอิสิปตนะ เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายศิลปะบ้างไหม.
พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เออ เรารู้สิท่าน.
               เขาอ้อนวอนว่า โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายศิลปะนั้นเถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ก็บวชเสียสี ท่านผู้ไม่ใช่นักบวช ศึกษาไม่ได้ดอก.
               เขารับคำว่า ดีละ เจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าบวชเถิด. ท่านจงทำแต่ที่ท่านปรารถนาแล้วให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายศิลปะก็แล้วกัน.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ก็ไม่สามารถประกอบเขาไว้ในกรรมฐาน ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านพึงนุ่งอย่างนี้. พึงห่มอย่างนี้. เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัย ไม่นานนักก็ตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณ.
               ท่านสุสีมะถึงลาภยศอันเลิศพรั่งพร้อมทั้งบริวาร ก็ปรากฏไปทั่วกรุงพาราณสีว่า เกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่นานนัก ท่านก็ปรินิพพาน เพราะทำกรรมที่เป็นเหตุให้อายุสั้นไว้.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและหมู่มหาชน ช่วยกันทำฌาปนกิจสรีระของท่าน เก็บธาตุสร้างพระสถูปไว้ใกล้ประตูพระนคร.
               ฝ่ายสังขพราหมณ์คิดว่า ลูกของเราไปตั้งนานแล้ว ยังไม่รู้ข่าวคราวของเขาเลย ประสงค์จะพบบุตร จึงออกจากตักกสิลา เดินทางไปตามลำดับก็ถึงกรุงพาราณสี เห็นหมู่มหาชนประชุมกัน คิดว่าในหมู่ชนเป็นอันมาก สักคนหนึ่งคงจักรู้ข่าวคราวลูกของเราแน่แท้ จึงเข้าไปที่กลุ่มชนถามว่า มาณพชื่อสุสีมะ มาในที่นี้มีไหม ท่านรู้ข่าวคราวของเขาบ้างหรือหนอ
               ชนเหล่านั้นกล่าวว่า เออ พราหมณ์ พวกเรารู้ ท่านเรียนจบไตรเพทในสำนักพราหมณ์ในพระนครนี้แล้ว บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้ว นี้พระสถูป เราสร้างไว้สำหรับท่าน.
               สังขพราหมณ์นั้นเอามือทุบแผ่นดิน ร่ำไห้รำพันไปยังลานเจดีย์นั้น ถอนหญ้าแล้ว เอาผ้าห่มห่อทรายนำไปเกลี่ยที่ลานเจดีย์พระปัจเจกพุทธเจ้า เอาน้ำในคนโทน้ำประพรม ทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่า เอาผ้าห่มยกขึ้นทำเป็นธง ผูกฉัตรคือร่มของตนไว้บนสถูปแล้วกลับไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว
               เมื่อทรงต่อเชื่อมชาดกนั้นกับปัจจุบัน จึงตรัสธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะพึงมีความคิดว่า คนอื่นเป็นสังขพราหมณ์สมัยนั้นแน่แท้ แต่พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นสังขพราหมณ์ เราถอนหญ้าที่ลานเจดีย์ของพระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำทาง ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนาม ทำพื้นที่ให้ราบเรียบ สะอาด
               เราโรยทรายที่ลานเจดีย์พระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโรยทรายที่หนทาง ๘ โยชน์ เราทำบูชาที่พระสถูปนั้นด้วยดอกไม้ป่า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำเครื่องลาดดอกไม้ด้วยดอกไม้ป่านานาชนิด ทั้งบนบกทั้งในน้ำ ในหนทาง ๙ โยชน์ เราประพรมพื้นดินด้วยน้ำในคนโทน้ำที่พระสถูปนั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงที่กรุงเวสาลี เรายกธงแผ่นผ้าและผูกฉัตรที่พระเจดีย์นั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงยกธงแผ่นผ้าและฉัตรใหญ่น้อย จนถึงภพอกนิษฐ์.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น บูชาวิเศษนี้ ไม่ใช่บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ไม่ใช่เพราะอานุภาพของนาค เทวดา และพรหมดอก ที่แท้ บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ ต่างหากเล่า.
               จบธรรมกถา ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

                         มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
               จเช มตฺตาสุขํ ธีโร                 สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.

                         ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสสะสุขพอประมาณไซร้
               ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสสะสุขพอประมาณเสีย ดังนี้.
               จบพรรณารัตนสูตร               
               แห่ง               
               อรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา                              —————————————————–               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ จบ.

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *